วันสงกรานต์

ท่านผู้ฟังครับ/คะ “วันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์” เป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และยังมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ทำให้นิยมเล่นสาดน้ำ และประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะไม่ถือโทษโกรธกัน

คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า "การเคลื่อนย้าย" เชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายจักรราศี อีกนัยหนึ่งคือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น "วันขึ้นปีใหม่ไทย" มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ทั้งนี้ การละเล่นสงกรานต์ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน ศรีลังกา และอินเดีย

ประวัติวันสงกรานต์ อ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ตำนานเล่าว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่งอายุเลยวัยกลางคนแต่ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตร จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ 7 สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวาย และการประโคมดนตรี โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า "ธรรมบาลกุมาร" ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล ทำให้ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาท้าทายปัญญา โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา 7 วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา

ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นโลก จะเกิดเพลิงไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้ธิดาทั้ง 7 ของตน อันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน สลับหน้าที่หมุนเวียนทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร หรือศีรษะของตนแห่รอบเขาพระสุเมรุ ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงมหาสงกรานต์

โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีชื่อ ดังนี้ วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม “ทุงษะเทวี” วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม “โคราคะเทวี” วันอังคาร นางสงกรานต์นาม “รากษสเทวี” วันพุธ นางสงกรานต์นาม “มณฑาเทวี” วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม “กิริณีเทวี” วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม “กิมิทาเทวี” และ วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม “มโหธรเทวี”

จบบทความประจำวัน เรื่อง “วันสงกรานต์”

เรียบเรียงโดย ไอยวริญ อนันฑเมศย์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/173102 https://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/view/12438-%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C


ไฟล์เอกสารประกอบ
15 เม.ย. 67 วันสงกรานต์.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar