ภาวะกลืนลำบาก อีกหนึ่งปัญหาช่องปากในผู้สูงอายุ

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “ภาวะกลืนลำบาก อีกหนึ่งปัญหาช่องปากในผู้สูงอายุ” ท่านผู้ฟังครับ/คะ เมื่อพูดถึงปัญหาช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากภาวะปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายน้อย น้ำลายหนืดแล้ว ยังนำไปสู่ภาวะกลืนลำบากตามมาได้ด้วย ครับ/ค่ะ ในผู้สูงอายุที่มีภาวะปากแห้ง คอแห้ง ต้องให้จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณน้ำดื่ม เช่น มีโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ อาจให้ดื่มน้ำซุป เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล ผู้ดูแลอาจตั้งขวดน้ำไว้ใกล้ๆ ผู้สูงอายุเพื่อให้ไม่ลืมดื่มน้ำ ถ้าน้ำลายน้อยหรือหนืดมากอาจต้องใช้น้ำลายเทียมช่วย สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบาก คือภาวะที่ผู้สูงอายุกลืนอาหารของเหลว หรือน้ำลงสู่ลำคอได้อยากกว่าปกติ อาการที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดใช้ประเมินว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก ได้แก่ อาการกล้ามเนื้อรอบปากอ่อนแรง ริมฝีปากปิดไม่สนิทจนน้ำลายไหล ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อรอบปากขยับได้ช้าขณะเคี้ยว ภาวะกลืนลำบากอาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก เช่น มีอาหารตกค้างบริเวณกระพุ้งแก้ม มีแผ่นคราบจุลินทรีย์สะสมในปริมาณมาก ฟันผุง่ายขึ้น มีโอกาสปากแห้งได้มากขึ้น และสำลักได้ง่าย จึงควรได้รับการดูแลสุขอนามัยช่องปากสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบากโดยเฉพาะ ทำได้โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุติดเตียงทั่วไป แต่ต้องระมัดระวังท่าทางเป็นพิเศษ ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่นเอนหลัง ให้ศีรษะสูงจากพื้นโดยทำมุมประมาณ 30-45 องศา แล้วช่วยประคองบริเวณคอ จากนั้นสังเกตว่ามีอาหารค้างอยู่ที่กระพุ้งแก้มและลิ้นหรือไม่ หากมีให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ กวาดเศษอาหาร คราบต่างๆ เสมหะ หรือน้ำลายเหนียวออกให้มากที่สุด แล้วแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ บีบยาสีฟันเพียงเล็กน้อย โดยไม่ต้องจุ่มน้ำ คอยใช้ผ้าซับน้ำและน้ำลายเป็นระยะ เมื่อแปรงเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดปากให้สะอาด ในกรณีที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดตรวจประเมินแล้วพบว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก อาจแนะนำให้ออกกำลังกล้ามเนื้อรอบปากเพื่อกระตุ้นการกลืน โดยจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งที่มั่นคง อาจยกหัวเตียงสูงขึ้นหรือใช้หมอนหนุนให้อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน โดยหลังทำมุมเกือบตั้งฉากหรือทำมุม 30-60 องศาจากพื้น ห้ามให้ผู้สูงอายุแหงนคอเพราะอาจสำลักเงียบได้ อธิบายให้ผู้สูงอายุฟังด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้ดื่นตัวแต่ไม่ควรตะโกน จากนั้นให้เริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบปากโดยใช้นิ้วโป้งกดลงตรงกลางริมฝีปากบนแล้ววนเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาลงมายังริมฝีปากล่าง ก่อนจะกลับมาบรรจบที่จุดตั้งต้น นอกจากนี้ การทำความสะอาดภายในช่องปาก ยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหากลืนลำบาก วิธีปฏิบัติ คือ ให้ผู้ดูแลยืนตรงหน้าผู้สูงอายุและช่วยเปิดปาก จากนั้นใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มกระตุ้นบริเวณลิ้น โดยค่อยๆ ลากแปรงไปช้าๆ บริเวณด้านข้างลิ้น ลากจากตอนกลางมายังปลายลิ้น แล้วทำเช่นเดียวกันกับอีกข้าง จากนั้นตวัดแปรงจากตรงกลางลิ้นไปทางด้านข้างลิ้น โดยเริ่มจากโคนลิ้นแล้วค่อยๆ ขยับออกมายังปลายลิ้น ทำเช่นเดียวกันทั้งสองข้าง ท่านผู้ฟังครับ/คะ อีกข้อสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ คือ ถ้าหากผู้สูงอายุมีริมฝีปากแห้ง ให้ใช้ลิปมันหรือวาสลีนได้ แต่ไม่ควรใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำเพราะอาจติดเชื้อได้ ครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “ภาวะกลืนลำบาก อีกหนึ่งปัญหาช่องปากในผู้สูงอายุ” เรียบเรียงโดย นฤนาถ แข็งขัน / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: หนังสือคู่มือดูแลผู้สูงวัย ช่องปากสุขี สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุขร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ไฟล์เอกสารประกอบ
24 พ.ค. 66 เรื่อง ภาวะกลืนลำบาก อีกหนึ่งปัญหาช่องปากในผู้สูงอายุ.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar