เรียนรู้วิธีรับมือ ฝุ่นจิ๋วเจ้าปัญหา PM 2.5

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “เรียนรู้วิธีรับมือ ฝุ่นจิ๋วเจ้าปัญหา PM 2.5” ท่านผู้ฟังครับ/คะ ฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่รอบตัวเราหากมีระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง เราจะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ วันนี้บทความประจำวันจึงมาแบ่งปันวิธีรับมือกับฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กัน ครับ/ค่ะ ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม และเนื่องจากฝุ่น PM 2.5 นั้นมีขนาดเล็กมาก จึงทำให้หลุดรอดการกรองจากจมูกและสามารถผ่านลงไปถึงถุงลมปอดได้เมื่อเราหายใจเช้าไป ก่อให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใน สามารถเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด และกระจายไปทั่วร่างกายได้ นอกจากนี้ในฝุ่น PM 2.5 มักพบสารก่อมะเร็งและโลหะหนักที่เป็นอันตรายเกาะอยู่ด้วย สำหรับอาการและผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะสั้น ทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ อาการภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น ผิวหนังอักเสบมีผื่นคันที่ผิวหนัง 2.ระยะยาว การทำงานของปอดแย่ลง เสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย ทั้งนี้ อาจารย์แพทย์หญิงเนาวรัตน์ ตั้งบำรุงธรรม ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลวิธีการรับมือกับ PM 2.5 ดังนี้ ครับ/ค่ะ 1. ให้ติดตามรายงานสภาพอากาศและระดับ PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ 2. ในบ้านหรืออาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ 3. สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องออกจากบ้านหรืออาคาร 4. สวมแว่นกันลม กันฝุ่น สวมเสื้อแขนยาวมิดชิด 5. ลดเวลาการอยู่นอกบ้าน นอกอาคาร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ PM 2.5 สูง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง 6. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ท่านผู้ฟังครับ/คะ เมื่อทราบกันแล้วว่า PM 2.5 อันตรายแค่ไหน อย่ามองข้ามการนำวิธีการรับมือไปปรับใช้กันนะครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “เรียนรู้วิธีรับมือ ฝุ่นจิ๋วเจ้าปัญหา PM 2.5” เรียบเรียงโดย นฤนาถ แข็งขัน / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ไฟล์เอกสารประกอบ
24 ม.ค. 66 เรื่อง เรียนรู้วิธีรับมือ ฝุ่นจิ๋วเจ้าปัญหา PM 2.5.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar