อะเฟเซีย ภาวะเสียการสื่อความ

อะเฟเซีย หรือภาวะเสียการสื่อความ เป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง มักพบในโรคทางระบบประสาทที่มีรอยโรคของสมองในตำแหน่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสาร หรือบริเวณสมองซีกซ้าย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการตีความ พูด อ่าน หรือเขียนเปลี่ยนไปจากเดิม โดยความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่น บางรายอาจมีอาการฟังไม่เข้าใจ ไม่สามารถสื่อสารตอบกลับได้ เช่น พูด หรือตอบไม่ตรงคำถาม หรือทำตามที่บอกไม่ได้ บางรายอาจมีปัญหาด้านการพูด เช่น พูดไม่คล่องเหมือนปกติ พูดเป็นคำๆ ติดขัด พูดตามไม่ได้ อาจถึงขั้นนึกคำไม่ออก และในกลุ่มสุดท้าย คือมีปัญหาด้านการอ่าน ไม่สามารถสะกดคำ หรือพิมพ์ข้อความได้ตามปกติ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเชื่อมเสียงกับตัวอักษร จึงทำให้สะกดคำออกมาเป็นตัวหนังสือไม่สำเร็จ หากปล่อยทิ้งไว้อาจถึงขั้นสูญเสียการสื่อสารไปทั้งหมด และผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุการเกิดภาวะอะเฟเซีย หรือภาวะเสียการสื่อความเกิดได้หลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ชนิดต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน หรือโรคหลอดเลือดสมองแตก หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารจะทำให้เกิดภาวะอะเฟเซียได้ สาเหตุรองลงไปมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่อายุมากและมีเนื้องอก หรือก้อนเนื้อในสมอง และสาเหตุที่เกิดได้น้อยที่สุดคือ การเกิดอุบัติเหตุ และการติดเชื้อ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการรักษาภาวะอะเฟเซียนั้น สามารถทำการรักษาได้หลายวิธีตามแต่ละอาการ หากเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หากเกิดจากก้อนเนื้อสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด และหากเกิดจากการติดเชื้อก็สามารถรักษาได้โดยการให้ยาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อเชื้อนั้นๆ หลังจากทำการรักษาแล้วผู้ป่วยยังต้องฝึกฝนการสื่อสารโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อทำการฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้มากที่สุด

ดังนั้นการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอะเฟเซีย หรือภาวะเสียการสื่อความ สามารถทำได้ด้วยการ ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หรืออาหารรสจัด ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีโรคประจำตัวควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เมื่อพบว่ามีอาการบกพร่องทางการสื่อสาร หรือไม่สามารถควบคุมการสื่อสารได้ตามปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนที่อาการจะรุนแรงต่อไป

จบบทความประจำวัน เรื่อง “อะเฟเซีย ภาวะเสียการสื่อความ”

เรียบเรียงโดย ธนัชพร อัครวัชรเสถียร / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/aphasia/ https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/pr-news/8946/


ไฟล์เอกสารประกอบ
24 เม.ย. 67 อะเฟเซีย ภาวะเสียการสื่อความ.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar