การขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ผ่านแคมเปญ #เจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ไม่ได้

 

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หลังจากผ่านการต่อสู้ยาวนานโดยภาคประชาชนมากว่า 10 ปี

ที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) เมื่อปี 2550 และได้ลงนามแสดงเจตนารมณ์เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) ไว้ตั้งแต่ปี 2555

ตั้งแต่ปี 2561 – พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม) ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัวทั้งสิ้นมากถึง 93 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ถูกกระทำทรมานหรือทำร้ายร่างกายในระหว่างการจับกุมตัวหรือสอบสวนเพื่อให้รับสารภาพโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ดี ตัวเลขเบื้องต้นของการกระทำทรมานนี้ ไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมดของเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ยังมีคนโชคร้ายอีกมากที่ต้องถูกซ้อมทรมานในการสอบสวน จับกุม หรือถูกทำให้สูญหายไป โดยไม่มีใครออกมาปกป้อง กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ที่กำลังมีผลบังคับใช้จริง จึงจะเป็นความหวังและกลไกที่สำคัญที่จะพิทักษ์ความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของเราทุกคน เพราะเจ้าหน้าที่จะทำแบบนี้ไม่ได้...

ลักษณะความผิดและบทลงโทษที่สำคัญ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดมีอะไรบ้าง

- หาก “ทำทรมาน ร่างกายหรือจิตใจ” เพื่อให้ได้ข้อมูล คำรับสารภาพ หรือเพื่อลงโทษ ข่มขู่ ขู่เข็ญ หรือการเลือกปฏิบัติใด ๆ

- หาก “ทำให้สูญหาย” โดยการควบคุมตัว ลักพาตัว ปฏิเสธว่ามิได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้นจนเป็นผลให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 แสนบาท

- ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ให้เพิ่มโทษเป็นจำคุกตั้งแต่ 10 - 25 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท

- ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ให้เพิ่มโทษเป็น จำคุกตั้งแต่ 15 - 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000 – 1,000,000 บาท

หาก “ลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย” กระทำโดยไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

*** กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความเจ็บป่วย มีโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในฐานความผิดนั้นกึ่งหนึ่ง

 

ช่องทางการแจ้ง ผู้ใดพบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า ผู้แจ้งถ้าได้กระทำโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังปรากฏว่า ไม่มีการกระทำความผิดตามที่แจ้ง

ทั้งนี้หากประชาชนยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแจ้งเหตุ หรือญาติพี่น้องต้องประสบเหตุการณ์         ซ้อมทรมานหรือการอุ้มหาย สามารถร้องเรียนอีกชั้นมายัง กสม. ได้

#รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ #เจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ไม่ได้ #กสม. #NHRCT #HumanRightsforAll #สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar