ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อาการที่ไม่ควรมองข้าม

ท่านผู้ฟังครับ/คะ กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยถึงภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง สามารถรู้สึกได้ด้วยการเกร็งที่กล้ามเนื้อมือและแขน เมื่อเขียนหนังสือ ทำให้เขียนหนังสือได้ช้าลง อาการดังกล่าวสามารถรุนแรงขึ้นได้ครับ/ค่ะ

กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง ซึ่งเป็นอาการเคลื่อนไหวผิดปกติในรูปแบบของการบิดเกร็งผิดรูป ที่เกิดขึ้นเฉพาะบางท่าทาง เช่น เขียนหนังสือ พิมพ์ดีด เล่นดนตรี เล่นกีฬาบางชนิด และอาการเกร็งจะหายไปเมื่อเลิกทำท่าทางนั้น หรือเมื่ออยู่เฉยๆ โดยอาการเกร็งมือที่พบมากที่สุด คือเวลาเขียนหนังสือ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกแน่นหรือเกร็งนิ้วมือ มือ ข้อมือ หรือแม้กระทั่งอาจลามถึงแขนเวลาใช้มือข้างนั้นเขียนหนังสือ ส่งผลให้ลายมือเปลี่ยนไป เขียนหนังสือช้าลง กระทั่งไม่สามารถเขียนหนังสือได้ บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องหัดเขียนหนังสือด้วยมืออีกข้างแทน ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง

ด้านสถาบันประสาทวิทยา ระบุว่า ผู้ป่วยประมาณ 10-20% อาจมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น จนมีอาการมือเกร็งเวลาทำกิจกรรมอื่นนอกจากเขียนหนังสือ เช่น จับช้อน หรือส้อมเวลาทานอาหาร ติดกระดุมเสื้อ หรืออาจมีอาการเกร็งลามไปมืออีกข้างทำให้เป็นภาวะมือเกร็งทั้งสองข้างได้ โดยสาเหตุของโรคเกิดจากสมองที่มีวงจรทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการบิดเกร็งของร่างกายส่วนนั้น ๆ อีกทั้ง ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็งอาจเป็นอาการนำของการเกิดโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็งทั่วตัว

ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยโดยการรับประทานยา และการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการเกร็ง แต่ผลการรักษามักมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร และมีผลข้างเคียงของยาเมื่อใช้ในปริมาณสูง ในปัจจุบันการรักษาที่เป็นมาตรฐานคือ การฉีดยาโบทูลินัม ในตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เกร็งเวลาเขียนหนังสือ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากการฉีดยาโบทูลินัมคือ อาจมีกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงชั่วคราวได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังฉีด จากนั้นมือจะกลับมามีแรงตามปกติโดยที่ไม่มีอาการเกร็งได้นาน 2-3 เดือน ทำให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ ดังนั้น หากมีอาการภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

จบบทความประจำวัน เรื่อง “ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อาการที่ไม่ควรมองข้าม”

เรียบเรียงโดย อานนท์ นันตสุคนธ์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: กรมการแพทย์


ไฟล์เอกสารประกอบ
28 เม.ย. 67 ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อาการที่ไม่ควรมองข้าม.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar