เด็กไทยกับการเสี่ยงภัยไซเบอร์

ท่านผู้ฟังครับ/คะ โลกในยุค Digital Disruption (ดิจิทัล ดิสรัพชัน) โลกที่เทคโลโนยีดิจิทัลเข้ามาแทรกแซง แทนที่สิ่งที่เรียกว่า Analog (อะนาล็อก) อย่างสิ้นเชิง และตามมาติดๆ กับความรวดเร็วของการรับสื่อ คงต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ต เป็นปัจจัยสำคัญในที่ทำให้ ทุกคนเข้าใกล้กันง่ายขึ้น ผู้ปกครองเข้าใกล้บุตรหลานมากขึ้น เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่า “มิจฉาชีพ” ก็สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนของเราง่ายขึ้นเช่นกัน

แม้สื่ออินเทอร์เน็ตจะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ก็มีหลายข้อที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะเด็กที่อยู่กับสื่อมาก ๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสติปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์ และภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตดิจิทัลของเด็กไทยก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน ที่พบมากที่สุด 4 ประเภท คือ 1.Cyber bullying (ไซเบอร์บูลลีอิ้ง) หรือ การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (49%) , 2. การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ (19%), 3. ติดเกม (12%) และ 4.ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า (7%)

น่าเป็นห่วงว่าค่าเฉลี่ยของ Cyber bullying ของเด็กไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ (47%) ดังนั้น Cyber bullying อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ฯลฯ เหล่านี้กำลังเป็นอีกผลิตผลจากอินเทอร์เน็ต ที่เป็นปัญหาซึมลึกส่งผลต่อปัญหาสังคมไทยปรากฏให้เห็นและเริ่มทวีความรุนแรงมากในเวลานี้

เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายของอาชญากรรมออนไลน์ หรือพบกับภัยไซเบอร์คุกคาม การหลอกลวงเพื่อได้มาซึ่งสื่อลามกอนาจารเพื่อหาประโยชน์ในทางเพศจากเด็กและเยาวชน การถูกแบล็กเมลทางเพศ หรือการที่เด็กถูกข่มขู่เรียกเงินหรือแสวงหาผลประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้กระทำใช้ภาพหรือวีดีโอทางเพศของเด็ก

ความเสี่ยงคือ การที่เด็กและเยาวชนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อาจทำให้ถูกติดตามคุกคามออนไลน์ ได้รับการติดต่อสื่อสารที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจ การถูกล่อลวงให้พูดคุยเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเป็นการนำไปสู่การถูกล่อลวงทางเพศ อีกทั้งผู้ปกครองที่มีพฤติกรรมชอบแชร์ภาพ วิดีโอ เช็คอิน เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กและเยาวชนมากเกินไป อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวบุตรหลานได้ง่าย เสี่ยงตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ การเผยแพร่ภาพเด็กที่แต่งตัวไม่มิดชิด หรือมีลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้ภาพของบุตรหลานอาจถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางเพศ สร้างผลกระทางจิตใจต่อเด็กเมื่อเติบโต

ผู้ปกครองควรสอดส่องดูแลการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กและเยาวชน และตัวผู้ปกครองเองอย่าโพสต์รูปภาพหรือคลิปวีดีโอของบุตรหลานในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็ก กิจวัตรประจำวัน ที่อยู่ หรือ โรงเรียน มากเกินไป ควรสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ สอนให้บุตรหลานมีทักษะรู้เท่าทันสื่อ จัดการตัวตนและชื่อเสียง รักษาความเป็นส่วนตัว สอนให้เด็กเข้าใจและระมัดระวังบุคคลที่พยายามเข้าใกล้ด้วยการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม ให้เงินเพื่อให้เด็กเชื่อใจ และสอนให้เด็กเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของคนแปลกหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงและแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ

การป้องกันภัยที่มาพร้อมกับโลกออนไลน์จึงเป็นหนึ่งในหน้าที่ของผู้ปกครองยุคใหม่ที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยปิดโอกาสที่เด็กและเยาวชนจะตกเป็นเหยื่อได้

จบบทความประจำวัน เรื่อง “เด็กไทยกับการเสี่ยงภัยไซเบอร์”

เรียบเรียงโดย ไอยวริญ อนันฑเมศย์/ เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา : https://www.depa.or.th/th/article-view/4 / https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/846842


ไฟล์เอกสารประกอบ
27 เม.ย. 67 เด็กไทยกับการเสี่ยงภัยไซเบอร์.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar