วันมาลาเรียโลก

ท่านผู้ฟังครับ/คะ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันมาลาเรียโลก” โดยมุ่งหวังให้ประชาชนร่วมใจต่อสู้โรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิธีการควบคุมและการรักษาโรคมาลาเรีย 

ท่านผู้ฟังครับ/คะ โรคมาลาเรียหรือที่รู้จักกันในชื่อไข้ป่า หรือไข้จับสั่น เป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต มีการแพร่ระบาดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อ พลาสโมเดียม สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย มียุงก้นปล่องเพศเมีย เป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้สามารถบินได้ไกลประมาณ 1 กิโลเมตร แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงก้นปล่อง อยู่บริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำลำธารธรรมชาติ และออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง เมื่อยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคน มันจะปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นประมาณ 10-14 วัน ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก จากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะลดลงจนเป็นปกติ เรียกว่า ช่วงปราศจากไข้ ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนปกติทุกอย่าง แต่หลังจากนั้นอาการของผู้ป่วยจะกลับมาหนาวสั่นอีกครั้ง วนเช่นนี้เรื่อยไป โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด

ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับประทานยาต้านมาลาเรียอย่างต่อเนื่องจนหายขาด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยาหรือมีอาการรุนแรงขึ้น และถ้าได้รับการรักษาช้า เชื้ออาจลุกลามจนเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง น้ำท่วมปอด ไตวาย จนเสียชีวิตได้ ครับ/ค่ะ

ท่านผู้ฟังครับ/คะ การป้องกันตนเองจากโรคมาลาเรียที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียกัด เช่น การนอนในมุ้ง หรือนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่หรือฆ่ายุง การใช้ยาจุดกันยุงหรือใช้ยาทากันยุง รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด เช่น ใช้เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว โดยเลือกใส่เสื้อผ้าสีอ่อน เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ สำหรับบ้านพักอาศัยควรทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพื่อลดปริมาณยุงที่เป็นพาหะของเชื้อ แม้โรคมาลาเรีย นับเป็นอีกโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากเราทราบถึงสาเหตุ วิธีการป้องกัน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ได้ตรงจุด ก็จะสามารถช่วยยับยั้งการเจ็บป่วยหนักจากโรคนี้ได้ และส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนทุก ๆ คนได้ค่ะ

จบบทความประจำวัน เรื่อง “วันมาลาเรียโลก”

เรียบเรียงโดย ปาลิตา คณาเดิม / เตชินท์ มัชฌันติกะ

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ


ไฟล์เอกสารประกอบ
25 เม.ย. 67 วันมาลาเรียโลก.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar