ลดปัญหาคนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน

ท่านผู้ฟังครับ/คะ ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรามาเป็นเวลานาน ทั้งช้างเผือกยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ช้างถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ช้างป่า 2. ช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง ในปัจจุบัน ช้างป่าได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยติดกับป่า โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับป่าอนุรักษ์ ซึ่งปัญหาดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ 3 เป้าหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่าตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและการจัดการช้างป่า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกันโดยการสร้างแนวตรวจการณ์ช้างป่าในพื้นที่วิกฤต รวมไปถึงจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านช้างป่า โดยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างป่าตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน, องค์ความรู้ด้านการป้องกันตัวจากช้าง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ การสำรวจ ติดตามโครงสร้างประชากร การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม (DNA) รวมถึงการการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการทำแนวเชื่อมต่อป่า (Corridor) และการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจัดการพื้นที่เพื่อคนและช้างป่า ประกอบไปด้วย การสำรวจและประเมินศักยภาพของพื้นที่, การศึกษาการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ (Zoning) ในแต่ละพื้นที่, สร้าง ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร รวมถึงการประเมินพื้นที่รองรับช้างที่มีปัญหา, เคลื่อนย้ายช้างป่าไปยังพื้นที่มีศักยภาพในการรองรับ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ช้างป่า, การศึกษาและส่งเสริมรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม, การสร้างความเข้าใจกับประชาชน, ส่งเสริมการทำประกันทรัพย์สินและพิจารณาชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม

เป้าหมายที่ 1 : การพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ : เร่งดำเนินงานฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่

เป้าหมายที่ 2 : การพัฒนาพื้นที่แนวกันชน : ที่ปัจจุบันช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า

เป้าหมายที่ 3 : การพัฒนาพื้นที่ชุมชน : ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มต้นจากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า

ด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 3 เป้าหมายนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

จบบทความประจำวัน เรื่อง “ลดปัญหาคนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน”

เรียบเรียงโดย ชโลทร จรรยา / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา http://news.dnp.go.th/news/23197


ไฟล์เอกสารประกอบ
23 เม.ย. 67 ลดปัญหาคนกับช้างป่า อย่างยั่งยืน.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar