8 สัญญาณอันตราย เสี่ยงไบโพลาร์

ท่านผู้ฟังครับ/คะ ในสังคมไทยสามารถพบผู้ป่วยทางจิตได้มากขึ้น เนื่องจากความเครียดสะสม รวมไปถึงกรรมพันธุ์
ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของโรคทางจิตหลาย ๆ โรค แต่สำหรับ "ไบโพลาร์"
อาจยังมีหลายคนที่เข้าใจอาการของโรคนี้ผิดไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง
บทความประจำวันวันนี้จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ และอาการที่สังเกตได้คร่าว ๆ ด้วยตัวเอง มาฝากกันครับ/ค่ะ
โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะ
อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ โดยอาการในแต่ละช่วง
อาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้าน
การงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิต
ประจำวันได้อย่างเป็นปกติ
ข้อมูลจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ป่วยที่ป่วย
เป็นโรคไบโพลาร์ จะมีช่วงที่อารมณ์ผิดปกติ โดยมีช่วงซึมเศร้า สลับกับช่วงที่อารมณ์ดี หรือคึกคักมากกว่าปกติ ซึ่งช่วงอารมณ์ดี
มากกว่าปกติ หรือเมเนีย (mania) ผู้ป่วยจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ครับ/ค่ะ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ร่าเริงมีความสุข เบิกบานใจ หรือหงุดหงิดง่ายก็ได้ ซึ่งญาติใกล้ชิดของผู้ป่วย
มักจะสังเกตได้ว่าอารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนผิดปกติ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1
สัปดาห์
2. มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถมากเกินไป เชื่อว่าตนเองสำคัญ
และยิ่งใหญ่ หรืออาจมีเนื้อหาของความคิดผิดปกติมาก ถึงขั้นว่าตนเองสำคัญ หรือยิ่งใหญ่ เช่น เชื่อว่าตนเองมีอำนาจมาก
หรือมีพลังอำนาจพิเศษ เป็นต้น
3. การนอนผิดปกติไป ผู้ป่วยจะมีความต้องการในการนอนลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่านอนแค่ 3 ชั่วโมง
ก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น
4. ความคิดแล่นเร็ว ผู้ป่วยจะคิดค่อนข้างเร็ว บางครั้งคิดหลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กัน คิดเรื่องหนึ่งไม่ทันจบก็จะคิดเรื่องอื่น ทันที
บางครั้งอาจแสดงออกมาในรูปของการมีโครงการต่าง ๆ มากมาย
5. พูดเร็วขึ้น เนื่องจากความคิดของผู้ป่วยแล่นเร็ว จึงส่งผลต่อคำพูดที่แสดงออกมาให้เห็น ผู้ป่วยมักจะพูดเร็ว
และขัดจังหวะได้ยาก ยิ่งถ้าอาการรุนแรง คำพูดจะดังและเร็วขึ้นอย่างมาก จนบางครั้งยากต่อการเข้าใจ
6. วอกแวกง่าย ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และความสนใจมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า
ภายนอกที่เข้ามากระตุ้นได้ง่าย
7. การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยบางรายจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งที่ทำงาน ที่โรงเรียน หรือที่บ้าน
มีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้
8. ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ผู้ป่วยเมเนียมักจะแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากการยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น ดื่มสุรามาก ๆ
โทรศัพท์ทางไกลมาก ๆ เล่นการพนัน หรือเสี่ยงโชคอย่างมาก ใช้เงินมากขึ้นได้
สำหรับอาการไฮโปเมเนียนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการข้างต้นเช่นเดียวกับเมเนีย แต่จะแตกต่างกับเมเนียคือ อาการไฮโปเมเนีย
จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ หรือการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก และผู้ป่วยต้องมีอาการอย่างน้อยที่สุดนาน 4 วัน
ท่านผู้ฟังครับ/คะ หากท่านพบเห็นบุตรหลาน หรือบุคคลในครอบครัวมีอาการใกล้เคียงดังกล่าว ควรพาไปพบจิตแพทย์
เพื่อทำการวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีนะครับ/นะคะ

จบบทความประจำวัน เรื่อง “8 สัญญาณอันตราย เสี่ยงไบโพลาร์”
เรียบเรียงและนำเสนอโดย ฐิติมา มหัทธนขจร
ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
www.nbt.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา: www.sanook.com/health


ไฟล์เอกสารประกอบ
1167.8 สัญญาณอันตราย เสี่ยงไบโพลาร์.doc |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar