บุหรี่ สาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ท่านผู้ฟังครับ/คะ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases : NCDs) ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญ อันดับ 1 ของโลก โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ระบุว่า แต่ละปีมีประชากรทั่วโลก ประมาณ 3 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการบริโภคยาสูบ และอีก 890,000 คน เสียชีวิตเพราะสัมผัส กับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึง 314,340 ราย      หรือร้อยละ 73.0 ในปี 2552 โดยกลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญร่วมกัน คือ "การสูบบุหรี่"

          ในบุหรี่ 1 มวน เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารหลายร้อยชนิดมีผลต่อการทำงาน ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และมี 42 ชนิด ที่เป็นสารก่อมะเร็ง การสูบบุหรี่ 1 ซอง จะทำให้ชีวิตของผู้สูบบุหรี่สั้นลงประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที หรือ สูบบุหรี่ 1 มวน ทำให้ชีวิตสั้นลงไป 7 นาที

สถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทยระหว่างปี 2550-2560 พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตที่มีประวัติการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 72,656 คน จะเห็นได้ว่า บุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต อันดับ 1 ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แม้ว่าบางภาคส่วนจะมีความพยายามที่จะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้า            เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย สามารถจำหน่ายได้โดยทั่วไปนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันควบคุมโรค และมีจุดยืนเชิงนโยบายที่ชัดเจน ในการคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศไทย และห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพื่อเป้าหมายสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน

          การเลิกบุหรี่ มิใช่เรื่องยาก ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจของแต่ละคน รวมถึงโอกาสและระยะเวลาสักช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถทำได้โดยอาศัยขึ้นตอนดังนี้

1. นึกถึงเหตุจูงใจที่เลิกสูบบุหรี่ เช่น เพื่อความปลอดภัยของคนที่คุณรัก รวมถึงตัวคุณเองด้วย

2. เตรียมตัว ก่อนอื่นต้องรู้ว่าเมื่อใดและที่ไหนที่คุณชอบสูบบุหรี่ แล้วลองคิดหากิจกรรมที่จะทำแทนการสูบบุหรี่ และทำให้คุณลืมการสูบบุหรี่ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เป็นต้น แล้วหาใครบางคนไว้คอยช่วยเหลือ เป็นสักขีพยานรับรู้ความตั้งใจของคุณ แล้วจึงกำหนดวันลงมือ

3. ลงมือ หยุดเลย ต้องพยายามหลีกเลี่ยงกิจวัตรที่มักทำให้ต้องสูบบุหรี่เหมือนเมื่อก่อน

4. ยืนหยัดต่อไป เมื่อใคร ๆ ต่างก็รู้ว่าคุณเลิกได้แล้ว โอกาสที่จะกลับไปสูบอีกครั้งหนึ่งจึงขึ้นกับตัวคุณเอง จงอย่าตามใจ ตนเอง จงฝึกการคลายเครียด เช่นการนั่งสมาธิ และต้องคอยระวังน้ำหนักตัวเองให้ดี ในขั้นแรก

การคัดกรองการเสพติดบุหรี่และเข้าถึงระบบเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น โดยการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สนับสนุนให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรม ส่งเสริมสุขภาพ หรือปรึกษาสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร. 1600 ครับ/ค่ะ

จบบทความประจำวัน เรื่อง “บุหรี่ สาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” 

เรียบเรียงและนำเสนอโดย ยุทธพร บานเย็น

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย www.nbt.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: สสส. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค


ไฟล์เอกสารประกอบ
1163.บุหรี่ สาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง.doc |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar