กลับสู่โรงเรียนอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19

ท่านผู้ฟังครับ/คะ แม้ทุกวันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ แต่ในส่วนของการใช้ชีวิต และขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมก็ยังต้องดำเนินต่อไป การคืนสังคมโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ เช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ให้เด็ก ๆ ได้กลับไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้อย่างปลอดภัยที่สุด เมื่อระบบสาธารณสุขสามารถรองรับ การรักษาโรคได้ และมีประชากรที่ได้รับวัคซีนในวงกว้างแล้ว มาตรการเปิดเมือง เปิดประเทศจึงเกิดขึ้น นั่นรวมถึงการเปิดให้เด็ก ไปเรียนที่โรงเรียนด้วย เพราะการที่โรงเรียนถูกปิดนั้น ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้ ครับ/ค่ะ

1.สุขภาพของเด็ก – การที่เด็กมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน หรือการที่เด็กต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เด็กสามารถเชื่อมต่อกับสื่อใดในโลกออนไลน์ก็ได้ อาจทำให้เด็กติดเกมได้

2.ความสัมพันธ์ในครอบครัว – การที่สมาชิกในบ้านต้องใช้เวลาร่วมกันตลอดแทบจะ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความรู้สึก อึดอัด ขาดความเป็นส่วนตัว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สะดวก รวมทั้งความไม่เข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก          ของผู้ปกครอง อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด หรือตำหนิเด็กได้ โดยเฉพาะธรรมชาติของเด็กเล็กที่ต้องเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว มากกว่าการนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการกดศักยภาพของเด็กได้

3.ความรุนแรงในครอบครัว – ช่วงที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ สายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หรือปรึกษาปัญหา ความรุนแรงต่อเด็ก มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะความเครียดของผู้ปกครอง และการที่เด็ก   ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด 

4.การศึกษา การเรียนรู้

5.พัฒนาการ

6.รายได้ครอบครัว – ผู้ปกครองขาดรายได้จากการปิดกิจการต่าง ๆ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมด้วย

นายเพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า มาตรการหลักที่เป็นตัวกำหนดการอนุญาตให้เปิดเรียน ที่โรงเรียน คือ ครูและบุคลากรในพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากร ในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป รวมถึงขอความร่วมมือผู้ปกครอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ให้เข้ารับวัคซีน แต่ในส่วนของนักเรียนนั้นไม่ได้กำหนด และยังมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็ก    แต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Small Bubble แบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู นอกจากนี้ ยังเน้นในส่วนของสิ่งแวดล้อมและความสะอาด โดยเฉพาะในจุดสัมผัสร่วมให้บ่อยที่สุดด้วย  

ท่านผู้ฟังครับ/คะ “โรงเรียน” ยังคงเป็นพื้นที่จำเป็นในการสร้างโอกาส และการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ แม้การเปิดเทอมในช่วงนี้ อาจทำให้ผู้ปกครอง คุณครู รวมถึงตัวเด็ก ๆ เอง มีความกังวลอยู่บ้าง แต่ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมพร้อมของสถานศึกษา จะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย แต่ถึงแม้ว่ามาตรการต่าง ๆ จะดีเพียงใดก็ตาม ถ้าหากขาดความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย มาตรการก็จะใช้ไม่ได้ผลครับ/ค่ะ

 

จบบทความประจำวัน เรื่อง “กลับสู่โรงเรียนอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19” 

เรียบเรียงและนำเสนอโดย ฐิติมา มหัทธนขจร

ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย www.nbt.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: www.thaihealth.or.th


ไฟล์เอกสารประกอบ
1161.กลับสู่โรงเรียนอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19.doc |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar