บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “โรคอีสุกอีใส โรคใกล้ตัวที่ป้องกันได้” ท่านผู้ฟังครับ/คะ โรคอีสุกอีใสมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสวาลิเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด โดยนายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยติดต่อได้ด้วยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใส หรืองูสวัด ซึ่งปกติเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ สำหรับโรคอีสุกอีใสมักเป็นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยมากพบในกลุ่มเด็กอายุ ระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี ส่วนงูสวัดนั้นมักเป็นในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก นอกจากนี้ โรคอีสุกอีใสมักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน หรือประมาณเดือนมกราคมถึงเมษายน ครับ/ค่ะ ทั้งนี้ อาการของโรคอีสุกอีใสที่พบ คือ ในระยะแรกขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ต่อมาจะขึ้นเป็นตุ่มใส จากตุ่มใสจะค่อย ๆ อุ่นขึ้นคล้ายหนอง แล้วจะกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลังและช่องปาก หลังจากนั้นอีก 2-3 วันต่อมาจะตกสะเก็ด อาจมีอาการเจ็บคอ ซึ่งในเด็กเล็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ส่วนในผู้ใหญ่จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามลำตัวคล้ายหวัด โดยจะมีผื่นขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือหนึ่งวันหลังจากมีไข้ บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย นอกจากนี้ยังพบอาการแทรกซ้อน ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ทําให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็น ในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำเชื้อไวรัสอีสุกอีใสอาจกระจายไปยังอวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วง 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทําให้ทารกในครรภ์พิการได้ นายแพทย์สุตศรัญย์ พรึงลำภู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคอีสุกอีใส สามารถรักษาได้ ดังนี้ 1. ในรายที่เป็นไม่มาก อาจดูแลตนเองที่บ้านได้ พักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ 2. กรณีที่มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีการติดเชื้อแทรกซ้อน มีอาการหอบ ชัก ซึม ต้องพบแพทย์ทันที 3.ในรายที่เป็นรุนแรง หรือผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ มะเร็ง หรือมีโรคประจำตัว จะทำให้โรคอีสุกอีใสมีอาการรุนแรงได้มากขึ้น และเกิดการแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อลดอาการรุนแรงของโรค ท่านผู้ฟังครับ/คะ นอกจากนี้ยังมีข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอีสุกอีใส คือ 1.โรคนี้เมื่อเป็นแล้วหากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำและเกิดการกระตุ้นขึ้น มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ในภายหลัง 2.ระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนที่ผื่นหรือตุ่มขึ้น จนตุ่มแห้งหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน ควรหยุดงานหรือหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดต่อไปสู่ผู้อื่น 3.โรคนี้ไม่มีของแสลง สามารถรับประทานอาหารตามหลักโภชนการได้ตามปกติ 4.ปัจจุบันโรคอีสุกอีใสป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน และ 5.การเกาหรือแกะตุ่มพุพองของโรคอีสุกอีใสอาจจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นอย่างถาวร ครับ/คะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “โรคอีสุกอีใส โรคใกล้ตัวที่ป้องกันได้” เรียบเรียงโดย พฤทธิ์ แก้วพิบูลย์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา : กรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง