ฝนหลวงจากพระราชาเพื่อประชาชน

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “ฝนหลวงจากพระราชาเพื่อประชาชน” ท่านผู้ฟังครับ/คะ วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" นับเป็นปีที่ 68 แห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 วันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง ครับ/ค่ะ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรน้ำในการเพาะปลูกแทบทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือน้ำฝน ย้อนกลับไปในอดีตหลายพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสานประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำทั้งการอุปโภคบริโภคและการเกษตร เมื่อใดที่ฝนทิ้งช่วง ถือเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของเกษตรกรทั้งหลาย เพราะนั่นหมายถึงผลผลิตที่ตกต่ำ หรืออย่างเลวร้ายคือไม่มีผลผลิตให้เลย ในปี พ.ศ. 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคอีสาน ย่านบริเวณเทือกเขาภูพาน จนได้พบกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนักและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีฝนตกน้อยหรือไม่ตกเลย เป็นความแห้งแล้งที่เกิดจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ในตอนนั้นเองพระองค์ได้ทอดพระเนตรบนท้องฟ้า และทรงสังเกตว่ามีปริมาณเมฆปกคลุมเหนือพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถรวมตัวจนเกิดเป็นฝนได้ กระทั่งมีพระราชดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “โครงการฝนหลวง” เพื่อประชาชน ครับ/ค่ะ หากพูดถึงต้นกำเนิด ฝนเทียมถูกคิดค้นโดยนักประดิษฐ์ชาวต่างชาติ ในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งวิธีการนั้นก็ยังไม่ได้ผลที่ดีนัก แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพและคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงลงมือและค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนประสบความสำเร็จในการทดลองสร้างฝนเทียมเป็นครั้งแรก ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาทรงค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้พระราชทานคำแนะนำ ปรับปรุงวิธีการหลาย ๆ อย่าง และติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน บางครั้งทรงควบคุมการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง จากความพยายามและการทรงงานอย่างยาวนาน ในที่สุดโครงการฝนหลวงก็ประสบความสำเร็จตามพระราชประสงค์ พระองค์ทรงคิดค้นเทคนิคการทำฝนเทียมเป็นแบบฉบับเฉพาะของพระองค์เอง ที่เรียกว่า เทคนิคซูเปอร์แซนวิช ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าของต่างชาติ ชนิดที่หลาย ๆ ประเทศให้การยอมรับ และยึดถือว่าการทำฝนเทียมแบบซูเปอร์แซนวิชนั้น คือการทำฝนเทียมที่ดีที่สุดในโลก ท่านผู้ฟังครับ/คะ จากวันแรกที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากของประชาชน พระองค์ทรงคิดค้นทดลองด้วยความอดทน มานะบากบั่น ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนโครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดนี้พระองค์ไม่มีความจำเป็นต้องลงมาทำด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ แต่พระองค์ทรงทำ ทำในสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นได้ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์พ้นจากความทุกข์ยากลำบาก ดังเช่นพระราชดำรัสของพระองค์เมื่อครั้งแรกเริ่มในการทำฝนเทียมว่า “ทำฝนนี้ ทำสำหรับชาวบ้าน สำหรับประชาชน ไม่ใช่ทำสำหรับพระเจ้าอยู่หัว” ครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “ฝนหลวง’ จากพระราชาเพื่อประชาชน” เรียบเรียงโดย อรวรรณ หมอยาดี / เตชินท์ มัชฌันติกะ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา : สารานุกรมใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


ไฟล์เอกสารประกอบ
14 พ.ย. 2566 บทความเรื่อง ฝนหลวง จากพระราชาเพื่อประชาชน.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar