บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “ปลุกพลัง ปรับพฤติกรรม สร้างการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม” ท่านผู้ฟังครับ/คะ ในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างกรณีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ มลพิษทางอากาศ ขยะอันตราย และขยะทั่วไป โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งย่อยสลายได้ยากและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครับ/ค่ะ ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ทั้งมลภาวะทางดิน น้ำ อากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น 1.ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) 2.ปัญหาหมอกควัน 3.ปัญหาขยะ ซึ่งพบว่า มีปัญหาจากขยะหลายประเภท ได้แก่ ขยะมูลฝอยตามชุมชน ของเสียอันตรายจากชุมชน ขยะติดเชื้อ ขยะทั่วไป ขยะพลาสติก ขยะอันตรายที่มาจากสารเคมีและของเสียจากอุตสาหกรรม ในขณะที่ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมีต้นทางมาจากบนบก หากเปรียบเส้นทางขยะบกสู่ทะเล คงเทียบได้กับการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่ต้นทางมาจากครัวเรือนและคนไทยทุกคน ระหว่างทางคือการบริหารจัดการขยะทั้งกระบวนการจัดเก็บและการทำลายโดยองค์กรท้องถิ่น ส่วนปลายทางคือแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นเสมือนสายพานลำเลียงขยะที่เล็ดลอดออกมาจากระหว่างทางลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรม การสร้างการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม ความห่วงใยถึงผลกระทบด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมและการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สิ่งแวดล้อมโลกอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ มีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักรู้ถึงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของประชาชนเอง นอกจากนี้ ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยการช่วยกันสร้างจิตสำนึกในการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อป้องกันมลพิษเข้าสู่ร่างกาย ลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของประชาชนในการแก้ปัญหาทางด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนที่พบอยู่ทั่วโลกอีกด้วย ท่านผู้ฟังครับ/คะ ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่นการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และจะต้องได้รับการขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศต่อไปมากยิ่งขึ้น เพราะการเก็บเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด แต่การหยุดทิ้งและหยุดใช้ถุงพลาสติกอาจจะเป็นอีกทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะเมื่อ “เราเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน ช่วยกันปลุกพลัง ปรับพฤติกรรม สร้างการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม” ด้วยกันนะครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “ปลุกพลัง ปรับพฤติกรรม สร้างการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม” เรียบเรียงโดย ยุทธพร บานเย็น / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม