คนรักสุนัขและแมว ระวังเห็บ หมัด เกาะดวงตา

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “คนรักสุนัขและแมว ระวังเห็บ หมัด เกาะดวงตา” ท่านผู้ฟังครับ/คะ สุนัขและแมวเป็นอีกสองสัตว์เลี้ยงยอดนิยมสำหรับผู้รักสัตว์ ซึ่งมักเลี้ยงเพื่อให้อยู่เป็นเพื่อน คลายเหงา หรือบางคนเลี้ยงไว้สำหรับเฝ้าบ้านอีกด้วย และหลายคนก็มักจะมีความผูกพัน ใกล้ชิดกับสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้อย่างมาก แต่ถึงจะเป็นสัตว์เลี้ยงของเราเอง หรือสุนัขจร หรือแมวจร ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องเห็บและหมัดตามตัวสัตว์เลี้ยงที่อาจจะส่งผลเสียต่อดวงตาของเราได้ครับ/ค่ะ โดยจากข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการระบุว่า พบเห็ดเกาะอยู่รอบขอบดวงตา จากที่ได้เลี้ยงสุนัขและแมวเอาไว้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำไว้ว่า กรณีดังกล่าว สามารถพบบ่อยได้ในสัตว์เลี้ยงและในคนได้ ฉะนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาด คอยกำจัดเห็บ หมัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น เพราะเห็บและหมัด ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในพงหญ้า หากสัตว์เลี้ยงเดินเล่นตามพื้นหญ้าก็มีโอกาสที่เห็บจะคลานหรือเกาะเข้ามาในตัวเราได้โดยไม่รู้ตัว ขณะที่เรากอดหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ข้อมูลจากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ระบุว่า เห็บจะกระโดดเกาะคนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งเห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถสังเกตตนเองได้ โดยหากพบว่าบริเวณเปลือกตามีตุ่มดำ คล้ายเห็บติดอยู่ ไม่ควรดึงออกเอง เพราะอาจเสี่ยงทำให้มีอาการติดเชื้อจากแผลที่ถูกกัดได้ การบีบหรือดึงอาจทำให้ตัวเห็บนั้นแตก ของเหลวที่ออกจากตัวเห็บจะมีเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อ ตาบวม ตาแฉะ น้ำตาไหล ตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาได้ ซึ่งอาจใช้เวลาในการรักษานานขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกวิธี ขณะที่ แพทย์หญิงสุณิสา สินธุวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ระบุว่า หากไม่สามารถพบแพทย์ได้ วิธีที่จะเอาเห็บออกจากผิวหนัง คือการใช้แหนบถอนขนคีบเห็บส่วนที่ใกล้ผิวหนังมากที่สุด แล้วค่อยๆ ดึงออก ห้ามใช้บุหรี่จี้ รวมถึงน้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง หรือสบู่เหลว เนื่องจากสารพวกนี้จะทำให้เห็บระคายเคืองและปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่กัดได้ ไม่ควรบิด กระชาก บีบขยี้ หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมาเข้าสู่บาดแผล ควรล้างมือและผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาด ถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนังควรพบแพทย์ อย่าพยายามแกะหรือแคะออก เพราะจะทำให้ผิวหนังเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ท่านผู้ฟังครับ/คะ ทั้งนี้เราสามารถป้องกันสัตว์เลี้ยงของตนเองให้ปราศจากเห็บและหมัดได้ ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ฉีดยาป้องกันเห็บหมัด หรือใช้ยาหยอดเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งการใช้น้ำยาอาบน้ำสำหรับกำจัดเห็บหมัดให้กับสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกันครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “คนรักสุนัขและแมว ระวังเห็บ หมัด เกาะดวงตา” เรียบเรียงโดย อานนท์ นันตสุคนธ์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)


ไฟล์เอกสารประกอบ
25 พค 66 เรื่อง คนรักสุนัข และแมว ระวังเห็บ หมัด เกาะดวงตา.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar