การเสี่ยงทายในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “การเสี่ยงทายในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ท่านผู้ฟังครับ/คะ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร จัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น โดยดูฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม ครับ/ค่ะ ทั้งนี้ ในพิธีดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งในขั้นตอนหนึ่งของพิธี พระโคจะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง เพื่อเป็นการพยากรณ์ถึงสถานการณ์ของพืชผล ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในปีนี้ จะมีลักษณะอย่างไร โดยของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้นมีข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น ดังต่อไปนี้ ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจรุ่งเรือง ท่านผู้ฟังครับ/คะ นอกจากวันนี้จะเป็นวันพืชมงคล และมีการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แล้วนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น “วันเกษตรกร ประจำปี” อีกด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรเห็นถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงาน วันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วยเช่นเดียวกัน ครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “การเสี่ยงทายในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เรียบเรียงโดย อานนท์ นันตสุคนธ์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา : www.moac.go.th/royal_ploughing-history


ไฟล์เอกสารประกอบ
17 พค 66 การเสี่ยงทายในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar