ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมในมือถือ เสี่ยงถูกล้วงข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมในมือถือ เสี่ยงถูกล้วงข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน” ท่านผู้ฟังครับ/คะ ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มักใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เปรียบเสมือนเป็นกระเป๋าสตางค์ 1 ใบ เพราะมีการติดตั้งแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ เอาไว้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรม แต่ทั้งนี้มิจฉาชีพก็อาศัยช่องทางดังกล่าว หลอกลวงให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ไม่ได้รับการตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง โดยแฝงมัลแวร์เพื่อล้วงเอาข้อมูลธุรกรรมทางการเงินในโทรศัพท์มือถือของเราไป ครับ/ค่ะ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเตือนภัยประชาชนให้รู้เท่าทันกลโกงแบบใหม่ของมิจฉาชีพ โดยหลอกลวงให้เราติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล โอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์ เช่น เวลานอน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในเบื้องต้นได้ อาทิ ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และ E-mail ที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ / ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น / อัปเดตแอปพลิเคชัน Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกล รวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ / ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (เจลเบรก) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น ท่านผู้ฟังครับ/คะ ทั้งนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งหากได้ตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็วภายใน 5 วัน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องของผู้เสียหายจากระยะไกล แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวงที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกและอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย ให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง ครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมในมือถือ เสี่ยงถูกล้วงข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน” เรียบเรียงโดย อานนท์ นันตสุคนธ์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


ไฟล์เอกสารประกอบ
22 มี.ค. 66 ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมในมือถือ เสี่ยงถูกล้วงข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar