ต้านภัยมะเร็งเต้านม

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “ต้านภัยมะเร็งเต้านม” ท่านผู้ฟังครับ/คะ ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม และจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาหายสูงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตรวจเจอได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น หากทุกคนใส่ใจกับตนเอง และทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอก็จะลดโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย ซึ่งสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2559-2561 มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านม อยู่ที่ 34.2 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 17,043 รายต่อปี และคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มมากกว่า 22,000 ราย ในปีต่อไป มะเร็งเต้านมจึงเป็นโรคที่เราควรให้ความใส่ใจเพื่อลดโอกาสที่จะเสียชีวิต จากมะเร็งชนิดนี้ มะเร็งเต้านมเกิดในเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ เพศชายมีโอกาสพบเจอเพียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น การมีประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 12 ปี และประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี การไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี ผู้ที่มีประวัติมีเนื้องอกในเต้านมบางชนิด ผู้ที่เคยได้รับการฉายแสงหรือรังสีรักษาที่หน้าอกก่อนอายุ 30 ปี ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ และผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เราสามารถแก้ไขและหลีกเลี่ยงได้เพื่อลดโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนโดยไม่จำเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ลดการบริโภคแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ อาการหรือสัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงทุกคนสามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง ได้แก่ การมีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังบวม แดงขึ้น หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้ง มีผื่นหรือแผล ที่เต้านมและหัวนม มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากหัวนม หากพบอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การสังเกตความผิดปกติของเต้านมควรทำทุกเดือนเดือนละครั้ง และยังสามารถมารับการตรวจเต้านมโดยบุคลากร ทางการแพทย์ได้ปีละหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ มะเร็งเต้านม ยังมีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและมีผลการศึกษาแล้ว ว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้จริงคือ การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม โดยแนะนำให้ทำในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมนี้ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ที่ยังไม่แสดงอาการได้ ทำให้การรักษาได้ผลดีผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องสูญเสียเต้านม มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย ทั้งนี้ การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน มักจะประกอบด้วยการรักษาหลายอย่าง ทั้งการผ่าตัด การให้ยา และการฉายแสง หรือรังสีรักษา ซึ่งทีมแพทย์ที่ทำการรักษา ทั้งแพทย์ผ่าตัดหรือศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ มะเร็งวิทยา และแพทย์รังสีรักษา จะพิจารณาเลือกวิธีและขั้นตอนในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆอย่าง เช่น ชนิดและระยะของมะเร็ง ตัวผู้ป่วย ซึ่งความก้าวหน้าของการรักษาในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมีหนทางการรักษาที่ให้ผลดี ทั้งทางด้านการหายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในทุกระยะของโรค ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “ต้านภัยมะเร็งเต้านม” เรียบเรียงโดย พฤทธิ์ แก้วพิบูลย์ / เตชินท์ มัชฌันติกะ นำเสนอ ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข


ไฟล์เอกสารประกอบ
23 ม.ค. 66 เรื่อง ต้านภัยมะเร็งเต้านม.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar