สาเหตุการเกิดโรคกลิ่นปาก

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “สาเหตุการเกิดโรคกลิ่นปาก” ท่านผู้ฟังครับ/คะ การเกิดโรคกลิ่นปากนั้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากภายในช่องปาก เพราะกลิ่นปาก เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มหนึ่งในปาก ไปทำการย่อยสลายสารประกอบประเภทโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้น สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดคือ การมีฝ้าขาวบนลิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคนลิ้นด้านใน สำหรับสาเหตุอื่น ๆ ในช่องปาก ยังมีอีกมากมาย เช่น ฟันผุ ยิ่งฟันผุเป็นรูลึก ยิ่งมีกลิ่นเหม็น หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน โรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม หากไม่ได้รับการรักษาโรคเหงือกอักเสบ ก็จะลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงยิ่งขึ้น สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นปากคือ ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เมื่อมีน้ำลายน้อย เชื้อโรคต่าง ๆ จะตกค้างอยู่ในช่องปากเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกลิ่นมากขึ้น ในบางขณะจะมีการหลั่ง ของน้ำลายลดลงตามธรรมชาติก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น เวลานอน ภาวะอดอาหาร หรือหิว ตลอดจนภาวะเครียด อาชีพที่ใช้เสียงมาก ๆ เช่น ครู ทนายความ จะมีผลให้น้ำลายลดลง ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน ดังนั้น น้ำ จึงเป็นยาที่ดีที่สุด ในการลดกลิ่นปาก รวมถึงสาเหตุจากภายนอกช่องปากที่มักเกิดจากระบบทางเดินหายใจ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการ มีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูก และการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล นอกจากนี้สาเหตุการเกิดโรคกลิ่นปากยังเกิดได้จากระบบทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกิน ในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้อาหารบางชนิด เมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลาย ๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ท่านผู้ฟังครับ/คะ กลิ่นปาก เกิดได้จากหลายสาเหตุ การรักษาคือการแก้ไขที่สาเหตุเหล่านั้น ประกอบกับการ ปรับพฤติกรรมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในช่องปาก ที่สำคัญที่สุดคืออย่าปล่อยให้ปากแห้ง และการดื่มน้ำจะช่วยขจัดแบคทีเรีย และช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในช่องปาก ช่วยขจัดคราบบนลิ้นและเสมหะในลำคอ ตลอดจนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามร่องของทอนซิล และทำให้มีน้ำลายเพิ่มขึ้น ฉะนั้นควรแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในช่องปาก ให้เหมาะสมที่ไม่ทำให้ปากแห้ง ทั้งนี้หากยังมีกลิ่นปากเรื้อรัง แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ทั้งในเรื่องของ โรคประจำตัวและการดูแลอนามัยภายในช่องปาก และตรวจเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไปครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “สาเหตุการเกิดโรคกลิ่นปาก” เรียบเรียงและนำเสนอโดย ขนิษฐา ยิ้มดี ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ไฟล์เอกสารประกอบ
1440.สาเหตุการเกิดโรคกลิ่นปาก.pdf |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar