ตักบาตรให้ได้บุญ พระสงฆ์ได้สุขภาพดี

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง “ตักบาตรให้ได้บุญ พระสงฆ์ได้สุขภาพดี” ท่านผู้ฟังครับ/คะ การตักบาตรเป็นการทำบุญที่ชาวไทยปฏิบัติมาเป็นเวลานาน สิ่งที่ผู้คนนิยมใส่บาตรส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋องและอาหารปรุงสำเร็จ ขนมหวาน โดยลืมคิดว่า เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วจะก่อให้เกิดโรคตามมาหรือไม่ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารได้ ต้องฉันตามที่ฆราวาสนำมาตักบาตรหรือนำมาถวาย กอปรกับสถานภาพ ของพระภิกษุสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย จึงเกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ครับ/ค่ะ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีพระภิกษุและสามเณรร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และร้อยละ 40 ป่วยเป็นโรคดังกล่าวมากกว่า 1 โรค พระภิกษุร้อยละ 5 อยู่ในภาวะอ้วน โรคเหล่านี้มีสาเหตุส่วนหนึ่ง จากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากเลือกฉันอาหารเองไม่ได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตร หรือนำอาหารมาถวาย ประกอบกับสถานภาพพระภิกษุสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค ดังนั้นทำบุญครั้งใดต้องเลือกเมนูชูสุขภาพ ตักบาตรด้วยเมนูต่าง ๆ ดังนี้ 1. เมนูที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ผักต่าง ๆ เพื่อจะได้มีกากอาหาร ช่วยขับถ่าย 2. เมนูที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมจืดหรือนมพร่องมันเนย ปลาเล็กปลาน้อย ผัดผักที่มีใบเขียวเข้ม เพื่อช่วย เสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย 3. เมนูที่ให้ไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินสะสมในร่างกายต้นเหตุโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยอาหารที่ปรุงนั้นต้องมีรสไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือน้ำพริก แต่หากต้องการปรุงอาหาร ประเภทผัดหรือกะทิ ก็ต้องใช้น้ำมันและกะทิแต่น้อย และควรมีผักสดและผลไม้สดทุกครั้งเพื่อให้ครบคุณค่าทั้ง 5 หมู่ ทั้งนี้ หลายท่านอาจไม่สะดวกเลือกเมนูชูสุขภาพและหันมาพึ่งเครื่องกระป๋องแทน เช่น อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมอาหาร ดังนั้นก่อนเลือกซื้อเครื่องกระป๋องทุกครั้ง ต้องอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด มีเลขทะเบียนตำรับอาหาร ชื่อและที่ตั้ง สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ชื่อปริมาณ วัตถุเจือปนในอาหาร น้ำหนักสุทธิ และสังเกตลักษณะกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม เมื่อเปิดกระป๋องต้องไม่มีลมดันออกมา รวมถึงตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่ว เพราะอาจเกิดเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นภายในกระป๋อง ท่านผู้ฟังครับ/คะ ในการตักบาตรแต่ละครั้งเราจึงควรเลี่ยงอาหารที่หวานจัด มันจัด เค็มจัด เปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง อบ เช่น ปลานึ่ง แกงส้ม แกงเลียง ต้มยำปลา เสริมด้วยนมรสจืดชนิดพร่องมันเนย ผักสดและผลไม้สด ให้ได้ครบ 5 หมู่ ก็จะดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคและสร้างสุขอนามัยที่ดีให้พระภิกษุสงฆ์ ถือเป็นการตักบาตรที่ได้บุญอย่างแท้จริงครับ/ค่ะ จบบทความประจำวัน เรื่อง “ตักบาตรให้ได้บุญ พระสงฆ์ได้สุขภาพดี” เรียบเรียงและนำเสนอโดย ฐิติมา มหัทธนขจร ท่านผู้ฟังที่สนใจบทความดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย radiothailand.prd.go.th หรือติดต่อได้ที่ส่วนกระจายเสียงในประเทศ โทรศัพท์ 0 2277 3804 ในวันและเวลาราชการ ที่มา: multimedia.anamai.moph.go.th


ไฟล์เอกสารประกอบ
|

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar